วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560

7วิธีนั่งกระบะอย่างไร ให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง



สัปดาห์ที่แล้วมีดราม่ากันไปเกี่ยวกับเรื่องการโดยสารรถกระบะจนคนถกเถียงกันมากมาย

แต่ส่วนนึงที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง คือ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย ยังไงก็มีคนนั่งแน่ๆแหละ ดังนั้น เรามาดูกันว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยขึ้นอีกนิด

ข้อควรรู้ควรระวัง
- ส่วนท้ายของกระบะ ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการโดยสาร และไม่มีการทดสอบความปลอดภัยสำหรับการโดยสาร ดังนั้น ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นหรือเลือกได้ ไม่ควรนั่งตรงนั้น
- อัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บหนักของผู้โดยสาร จะเพิ่มขึ้นหลายเท่า(ถึงหลายสิบเท่า) เมื่อเทียบกับคนที่นั่งในที่นั่งที่คาดเข็มขัดนิรภัย
- การเสียชีวิตในอุบัติเหตุหรือการใช้รถกระบะที่ไม่ได้เกิดการชนที่พบมากที่สุด เกิดจากการตกลงมาจากรถ
- การออกแบบรถกระบะ เรื่องการทรงตัวและจุดศูนย์ถ่วง ตั้งอยู่บนหลักที่ว่าของท้ายรถไม่ใช่สิ่งมีชีวิต และถูกผูกยึด

นั่งอย่างไร ให้ปลอดภัยขึ้นอีกนิด

1. ใช้ความเร็วตามกำหนดกฎหมาย หรือช้ากว่า ... เพราะตัวรถออกแบบมาสำหรับบรรทุกของที่ถูกผูกยึด ... การให้คนโดยสารมีโอกาสเสียการทรงตัวกว่าปกติ
2. ไม่ควรให้เด็กหรือสัตว์เลี้ยงนั่งในส่วนท้ายกระบะ เพราะมีโอกาสที่เราจะควบคุมไม่ได้แล้วกระโดดตกลงไป
3. ติดตั้งเก้าอี้พร้อมสารคาดนิรภัย (อันนี้ยากสุด ข้ามไป)
4. หากจำเป็นต้องให้เด็กนั่งท้ายกระบะ ต้องมีผู้ใหญ่นั่งกำกับไม่ให้ลุกยืนหรือไปนั่งในจุดเสี่ยง
5. หากผูกสัตว์เลี้ยงล่ามไว้กับกระบะ ต้องทำให้มั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงจะไม่กระโดดลงมา
(นึกภาพขับรถตามหลังรถกระบะ จากนั้นตัวอะไรไม่รู้กระโดดออกท้ายกระบะ จากนั้นติดสายคาด ฟาดลงที่พื้น ดูดเข้าล้อ จากนั้นเลือด ไส้ เศษขน ลอยมาแปะหน้ารถเรา .. ที่บอกว่าตัวอะไรก็ไม่รู้ เพราะของที่คล้ายๆหัวกระเด็นลงข้างทาง)
6.นั่งเสมอ อย่าทำตัวสูงกว่าขอบกระบะ เพราะการตายที่ไม่ได้เกิดจากการชนมีสาเหตุจากการตกจากกระบะ มักเกิดจากรถตกหลุม มีการหักหลบกระทันหัน หรือลมพัดแรงวูบจากการวิ่งผ่านรถคันใหญ่ โดยท่าที่ทำให้ตกจากรถมากที่สุดมี 3 ท่า คือ
- นั่งท้ายกระบะ
- นั่งขอบกระบะ
- ยืนขณะโดยสารบนกระบะ... โดยมากยืนเกาะตรงส่วนกระจกท้ายห้องโดยสาร
7. การติดตัวแคป/เสาที่มั่นคงรอบกระบะ แม้ไม่สามารถลดการตายเวลาเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้(เพราะเวลาเกิดก็อัดข้างในหรือปลิวไปพร้อมแคป) แต่ลดการตายจากการพลัดตกได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจำเป็นแค่ไหน การนั่งกระบะท้ายก็อันตรายกว่าการนั่งในที่นั่งและคาดเข็มขัดนิรภัย ถ้าเลือกได้ก็ควรจะเลี่ยงครับ

ปล. บทความนี้เราเขียนเพื่อให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ได้สนับสนุนให้นั่งท้ายกระบะเป็นอาจิณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น