วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2560

8 สัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะกำลังติดอุปกรณ์ดิจิตอล



1.สิ่งที่คุณทำอย่างแรกๆตอนตื่นนอนคือเปิดอุปกรณ์ดิจิตอล

"ถ้ามีสงคราม รัฐประหาร หรือประท้วงจะทำยังไง" เป็นเหตุผลที่บางคนให้ (ซึ่งก็จริง เคยมีประกาศเคอร์ฟิวแล้วมีนักศึกษาแพทย์ไม่รู้ยังมารพ.)
คือบางคนไปทำงานสายไม่ได้เพราะตื่นสาย แต่เพราะตื่นมาตอนเช้าแล้วเอาแต่นั่งอ่านดราม่าหรือข่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ... จริงๆถ้าอยากทราบข่าวสารประจำวันจริงๆใช้เปิดวิทยุก็ได้ ถ้ามีสงครามหรือรัฐประหารวิทยุก็ออกข่าวแหละ ไม่ต้องไปอ่านในsocialหรือในinternetก็ได้
2. ระหว่างนั่งส้วม คุณต้องเปิดอุปกรณ์สื่อสารใช้ไปด้วย
คนไม่น้อยจะทำการ Toilet Surfing โดยปลอบใจตัวเองว่าตอนที่นั่งถ่ายมันใช้เวลา เรากำลังใช้เวลาไม่ให้เสียเปล่า โดยที่จริงๆแล้วกลับกลายเป็นทำให้การขับถ่ายครั้งนั้นยาวนานกว่าที่จำเป็น
ทางแก้หนึ่งที่ทำได้คือการพกหนังสือหรือของที่ไม่สามารถต่อinternetได้เข้าไปอ่านแทน หรือไม่ก็ไม่อ่านอะไรเลยทนๆเอา
3. เปิดอ่าน Email ทุกครั้ง เมื่อเห็น Notification ว่ามีเมล์ที่ไม่ได้อ่าน
การเปิดเมล์บ่อยๆจะทำให้สมาธิของเราเสียไปทุกครั้งที่เราไปกดเปิด บางคนถึงกับมีแนวคิด Inbox Zero คือเห็นว่าเมื่อมีการเตือนว่ามีเมล์ที่ไม่ได้อ่านก็ต้องกดเข้าไปเปิดอย่างอดใจไม่ได้ ดังนั้นควรจำกัดการกดเปิดให้เป็นเวลาตามความจำเป็นของการใช้งานเพื่อไม่ให้เสียสมาธิการทำงานอื่นๆ
หรือหากคุณเป็นคนที่ต้องทำงานที่จำเป็นต้องส่งหรือเปิดอ่านเมล์ทันที ควรแยกเมล์งานและเมล์ไม่เกี่ยวกับงาน จะได้เสียสมาธิเฉพาะกับสิ่งที่จำเป็น
4. คุณกด notification บ่อยๆ ทุกครั้งที่มันขึ้นหน้าจอ
อะไรไม่จำเป็นปิดซะให้หมด
5. คุณรู้สึกว่าโทรศัพท์ดังหรือสั่น แต่หยิบมาดูแล้วไม่มีอะไร
อาการสั่นหลอนเสียงหลอนจากอุปกรณ์สื่อสาร จะเกิดกับคนที่มีความเครียดหรือใช้งานอุปกรณ์บ่อยๆ พอมีอะไรที่เข้ามากระตุ้นนิดนึงจะหวาดระแวงว่ามีการสั่นหรือสายเข้า
6. คุณเล่นมือถือในรถ ขณะเป็นคนขับ
มันไม่ควรทำอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะพิมพ์ช้า ตอบช้า อ่านไม่ได้ใจความ ยังเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาอีก
7. คุณส่องaccountของแฟนเก่า เพื่อนเก่า หรือคนที่เคยแอบชอบ
เมื่อใช้อุปกรณ์สื่อสารไปถึงจุดนึง connect social อ่านของที่อยากอ่าน พอทำเสร็จหมดไม่มีอะไรทำ บางคนเลิกใช้อุปกรณ์ไม่ได้ ก็จะนึกสิ่งที่จะทำได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลสื่อสารนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการค้นหาหรือเข้าไปดูไปหาว่าสิ่งหรือคนที่ตนรู้จักในอดีต ตอนนี้เป็นอย่างไรแล้ว
8. คุณเล่นinternetไปเรื่อยๆแบบไร้จุดหมาย
หรือที่เรียกว่า internet surfing ซึ่งเป็นการท่องโลกอินเตอร์เนทไปแบบไร้จุดหมาย ซึ่งในยุคหนึ่งที่ข้อมูลข่าวสารยังไม่เปิดกว้าง การทำแบบนี้จะทำให้เรามีความรู้รอบตัวมากขึ้น แต่ในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุค information overload การทำแบบนี้มีประโยชน์น้อยลงและเป็นตัวบอกว่าคุณอาจจะแค่อยากใช้อุปกรณ์สื่อสารฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ

เมื่อนักวิจัย ให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้และค้นหาทางทำนายโรคในผู้ป่วยแทนหมอ

นักวิจัยประสบความสำเร็จในการทำให้คอมพิวเตอร์ทำนายความเสี่ยงโรคหัวใจ ได้ดีขึ้นกว่าแนวทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
สรุปข่าว
1. โรคหัวใจเป็นโรคที่ถ้ารอให้เป็นแล้วรักษาจะยุ่งยากลำบาก ในทางการแพทย์จึงมีความพยายาม "ทำนาย" การเกิดโรค ว่าใครบ้างจะเสี่ยงต่อการเกิดโรค
2. มนุษย์หมอ ใช้เวลา 50-60 ปี ในการวิจัย เอาคนมาติดตามดูหลายสิบปี เพื่อหาว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงจะได้แนะนำคนไข้ได้
3. ในปัจจุบัน ตัวแปรที่หมอใช้กัน อยู่ในรูปแบบที่เรียบง่ายเข้าใจไม่ยาก เรียกว่า 10 year risk score ซึ่งเมื่อใส่ค่าเข้าไปแล้วจะคำนวณได้ว่าผู้ป่วยจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจใน 10 ปีข้างหน้ากี่% ถ้าเสี่ยงสูงจะได้ให้กินยาดักไว้ก่อนเลย
4. ซึ่งการจะทำค่าเหล่านี้ขึ้น มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น
- คนที่คิดตัวแปรและแทนค่า ต้องอ่านงานวิจัยมามากพอ และด้วยความเป็นมนุษย์ เวลาในชีวิตมันจำกัด
- ตัวแปรบางอย่าง เราไม่รู้ว่ามันมี จนกว่าจะเห็นว่ามีคนป่วยมากๆ จึงจะไปวิจัยค้นหา
- หมอมีเวลาและสมองที่จำกัด ไม่สามารถเปิดประวัติคนไข้ทุกคนได้ทั้งหมดทุกหน้าในการรักษาแต่ละครั้ง และไม่สามารถจดจำประวัติคนไข้ได้ทั้งหมดทีละหลายแสนคน
ดังนั้นไม่มีทางที่คนจะหาตัวแปรความเสี่ยงได้สมบูรณ์
5. เลยมีความคิดที่จะให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่แทน ... เพราะคอมพิวเตอร์สามารถคิดและเชื่อมโยงข้อมูลรวมถึงจดจำอะไรทั้งหลายแหล่ได้ดีกว่ามนุษย์ ... โดยเอาข้อมูลให้คอมพิวเตอร์ดู จากนั้นให้เชื่อมโยงประมวลผลเอง เพื่อสร้างตัวแปรคำนวณความเสี่ยงโรคหัวใจขึ้นมา
6. พบว่าได้ผลที่น่าพอใจ ถ้าให้คอมพิวเตอร์ทำการประมวลผลเอง มีการหยิบตัวแปรอื่นขึ้นมาใช้เพิ่มขึ้น และทำนายได้แม่นยำขึ้นอีกหน่อยนึง
ปล. จริงๆมีคนทำมาแล้ว แต่ไม่ครอบคลุม และขนาดตัวอย่างเล็ก
ปอ. มีอีกโครงการที่รออยู่ คือเรื่องการทำนายผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่า 1 ชนิด ซึ่งซับซ้อนพอสมควร(ในระดับสมองมนุษย์)

http://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0174944

วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560

ทำไมเมื่อเสื้อขาวๆเปียก เราจึงเห็นเรือนร่างที่อยู่เบื้องหลัง




ช่วงนี้เป็นช่วงสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาที่คนจะสาดน้ำใส่กัน และเมื่อสาดไปแล้วสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เราจะมองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้ต่อเสื้อผ้าเปียกสีขาวๆนั้น
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เราจะเห็นสิ่งต่างๆได้ต่อเมื่อแสงสามารถสะท้อนกลับมาถึงตาเราได้

เสื้อผ้าโดยทั่วไปทำจากการถักทอเส้นใย ในเนื้อผ้าจะมีเส้นใย และ อากาศ
เมื่อแสงวิ่งไปถึงผ้า เจอเส้นใย ก็จะเกิดการดูดซับคลื่นแสงไว้บางส่วน และเกิดการสะท้อนกระจายไปในหลายทิศทาง จนสุดท้ายแสงมันไม่กลับมาที่ตาของเรา
ในขณะที่เมื่อผ้าเปียกน้ำ ส่วนที่เป็นอากาศถูกแทนด้วยน้ำ เมื่อแสงวิ่งเข้าไปในน้ำแล้วไปชนกับเส้นใย มันจะไม่ได้เกิดการสะท้อนทุกทิศทาง แต่จะสะท้อนชิ่งกลับไปมาภายในน้ำไปออกที่อีกด้านของเสื้อผ้า และสะท้อนสิ่งที่อยู่ใต้นั้นทำให้เราเห็นหนั่นเนื้อที่อยู่เบื้องหลังได้
วิธีที่จะลดการมองทะลุได้ คือ การใส่เสื้อผ้าที่มีสีเพื่อให้เกิดการดูดซับแสงระหว่างทาง หรือการดึงผ้าที่แนบเนื้อให้ห่างออกมาจากเนื้อตัวให้มีอากาศมาแทรก เพื่อให้เกิดการสะท้อนของแสงบริเวณรอยต่อของอากาศและน้ำไปในทิศทางอื่นจนไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดหลังเสื้อผ้าได้

ปล. หลักการเหมือนไฟเบอร์ออฟติก หรือเวลาเปิดน้ำแล้วเอาไฟฉายส่องที่ด้านบนให้แสงไปโผล่ที่ปลายสายน้ำ

วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560

ทำไมเหยียบเปลือกกล้วยแล้วจึงลื่นล้ม

pixabay.com/en/slip-up-danger-careless-slippery-709045


เราจะเห็นในการ์ตูนว่าตัวละครชอบเอาเปลือกกล้วยไปวางดักให้คนอื่นเหยียบล้ม ... เห็นบ่อยจนสงสัยว่าจริงๆมันลื่นขนาดนั้นเลยเหรอ

และที่ว่าลื่น มันลื่นแค่ไหน

ในปี 2012 มีนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น 4 ท่าน ได้ทำการค้นหาคำตอบเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสารสึกหรอและหล่อลื่นวิทยาออนไลน์
โดยพวกเขาได้นำเอาเปลือกกล้วยมาทดสอบหาค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานเมื่อถูกเหยียบพบว่า

เมื่อเปลือกกล้วยถูกเหยียบ เซลล์ที่ผิวเปลือกกล้วยด้านในจะแตกออก ทำให้ของเหลวPolysaccharideที่มีลักษณะเป็นเจลไหลออกมารวมกันเป็นชั้นบางๆที่มีคุณสมบัติลดความเสียดทาน

แล้วมันลื่นแค่ไหน

ถ้าเปรียบเทียบค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทาน Cof ที่เรารู้กัน

ยางรถยนต์ต่อถนนแห้งๆ มีค่า Cof = 0.7-0.9
ยางรถยนต์ต่อถนนเปียก มีค่า Cof = 0.4
รองเท้าต่อพื้นเสื่อน้ำมัน มีค่า Cof = 0.4
ยางรถยนต์ต่อถนนที่มีหิมะ มีค่า Cof = 0.2
ยางรถยนต์ต่อถนนที่เป็นน้ำแข็ง มีค่า Cof = 0.1
เหยียบเปลือกกล้วยบนเสื่อน้ำมัน ค่าCof = 0.07

ดังนั้น เรียกได้ว่าโคตรลื่น


อ่านเพิ่มเติม
1. งานวิจัยตัวนี้เต็มๆ https://www.jstage.jst.go.jp/article/trol/7/3/7_147/_pdf
2. ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทางของยาง http://blogs.umass.edu/ndarnton/2009/04/11/friction/

วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560

7วิธีนั่งกระบะอย่างไร ให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง



สัปดาห์ที่แล้วมีดราม่ากันไปเกี่ยวกับเรื่องการโดยสารรถกระบะจนคนถกเถียงกันมากมาย

แต่ส่วนนึงที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง คือ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย ยังไงก็มีคนนั่งแน่ๆแหละ ดังนั้น เรามาดูกันว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยขึ้นอีกนิด

ข้อควรรู้ควรระวัง
- ส่วนท้ายของกระบะ ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการโดยสาร และไม่มีการทดสอบความปลอดภัยสำหรับการโดยสาร ดังนั้น ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นหรือเลือกได้ ไม่ควรนั่งตรงนั้น
- อัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บหนักของผู้โดยสาร จะเพิ่มขึ้นหลายเท่า(ถึงหลายสิบเท่า) เมื่อเทียบกับคนที่นั่งในที่นั่งที่คาดเข็มขัดนิรภัย
- การเสียชีวิตในอุบัติเหตุหรือการใช้รถกระบะที่ไม่ได้เกิดการชนที่พบมากที่สุด เกิดจากการตกลงมาจากรถ
- การออกแบบรถกระบะ เรื่องการทรงตัวและจุดศูนย์ถ่วง ตั้งอยู่บนหลักที่ว่าของท้ายรถไม่ใช่สิ่งมีชีวิต และถูกผูกยึด

นั่งอย่างไร ให้ปลอดภัยขึ้นอีกนิด

1. ใช้ความเร็วตามกำหนดกฎหมาย หรือช้ากว่า ... เพราะตัวรถออกแบบมาสำหรับบรรทุกของที่ถูกผูกยึด ... การให้คนโดยสารมีโอกาสเสียการทรงตัวกว่าปกติ
2. ไม่ควรให้เด็กหรือสัตว์เลี้ยงนั่งในส่วนท้ายกระบะ เพราะมีโอกาสที่เราจะควบคุมไม่ได้แล้วกระโดดตกลงไป
3. ติดตั้งเก้าอี้พร้อมสารคาดนิรภัย (อันนี้ยากสุด ข้ามไป)
4. หากจำเป็นต้องให้เด็กนั่งท้ายกระบะ ต้องมีผู้ใหญ่นั่งกำกับไม่ให้ลุกยืนหรือไปนั่งในจุดเสี่ยง
5. หากผูกสัตว์เลี้ยงล่ามไว้กับกระบะ ต้องทำให้มั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงจะไม่กระโดดลงมา
(นึกภาพขับรถตามหลังรถกระบะ จากนั้นตัวอะไรไม่รู้กระโดดออกท้ายกระบะ จากนั้นติดสายคาด ฟาดลงที่พื้น ดูดเข้าล้อ จากนั้นเลือด ไส้ เศษขน ลอยมาแปะหน้ารถเรา .. ที่บอกว่าตัวอะไรก็ไม่รู้ เพราะของที่คล้ายๆหัวกระเด็นลงข้างทาง)
6.นั่งเสมอ อย่าทำตัวสูงกว่าขอบกระบะ เพราะการตายที่ไม่ได้เกิดจากการชนมีสาเหตุจากการตกจากกระบะ มักเกิดจากรถตกหลุม มีการหักหลบกระทันหัน หรือลมพัดแรงวูบจากการวิ่งผ่านรถคันใหญ่ โดยท่าที่ทำให้ตกจากรถมากที่สุดมี 3 ท่า คือ
- นั่งท้ายกระบะ
- นั่งขอบกระบะ
- ยืนขณะโดยสารบนกระบะ... โดยมากยืนเกาะตรงส่วนกระจกท้ายห้องโดยสาร
7. การติดตัวแคป/เสาที่มั่นคงรอบกระบะ แม้ไม่สามารถลดการตายเวลาเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้(เพราะเวลาเกิดก็อัดข้างในหรือปลิวไปพร้อมแคป) แต่ลดการตายจากการพลัดตกได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจำเป็นแค่ไหน การนั่งกระบะท้ายก็อันตรายกว่าการนั่งในที่นั่งและคาดเข็มขัดนิรภัย ถ้าเลือกได้ก็ควรจะเลี่ยงครับ

ปล. บทความนี้เราเขียนเพื่อให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ได้สนับสนุนให้นั่งท้ายกระบะเป็นอาจิณ

วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560

ไม่ควรให้ทารกกินน้ำผึ้ง เพราะเสี่ยงต่อโรค Botulism ตายได้



- Botulism เป็นโรคที่เกิดจากพิษชนิดนึง ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงอ่อนกำลัง ถ้าเป็นมากๆอาจจะมีอาการเหมือนอัมพาต และจะตายจากการไม่มีกำลังหายใจ
- คือโรคที่เกิดจากเชื้อ Clostridium botulinum ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดนึง มันจะสร้างพิษร้ายขึ้นมา เมื่อได้รับพิษเข้าไปก็จะเกิดอาการ
- ในผู้ใหญ่ มักจะเกิดจากการกินอาหารที่เก็บไว้นานแล้วปนเปื้อนเชื้อ แล้วเชื้อไปสร้างพิษไว้ .. ที่เจอได้เช่นอาหารกระป๋องที่ปนเปื้อน , หน่อไม้ปี๊บที่เปื้อน
- เชื้อนี้พบได้ในดิน และอีกที่ที่พบได้คือน้ำผึ้ง คือน้ำผึ้งฆ่าเชื้อชนิดอื่นๆได้ แต่ฆ่าสปอร์ของแบคทีเรียไม่ได้
- ในผู้ใหญ่ พอสปอร์เชื้อลงไป มันก็จะแตกตัว เปิดออก จากนั้น ก็จะโดนแบคทีเรียในลำไส้รุมรับน้องกินโต๊ะ จนตายหมด
- ทีนี้พอทารกลำไส้ยังไม่ค่อยมีเชื้อ กินน้ำผึ้งที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ เมื่อไปถึงลำไส้ เชื้อฟักออกมาไม่เจอเชื้ออื่นก็จะแพร่กระจายสร้างอาณาจักร
- จากนั้นก็ปล่อยพิษออกมา

...

เลยต้องบอกว่า ถ้าอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ก็ยังไม่ให้กินครับ ...
และถ้าจะให้จริงๆ อาจจะต้องต้มให้เดือด 10 นาที จึงจะฆ่าสปอร์เชื้อนี้ได้ ... แค่ผสมน้ำร้อนไม่เพียงพอ

(ที่ต้องเตือน เพราะบางครั้งจะมีคนแนะนำให้ใช้น้ำผึ้งในเด็กที่เป็นหวัด ท้องผูก หรือไอ และบอกว่าให้ใส่น้ำร้อนคนๆ ... ซึ่งมันไม่เพียงพอครับ)

วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

Tsundoku ภาวะซื้อหนังสือมาแล้วไม่ได้อ่าน (ดองหนังสือ)




ในช่วงงานหนังสือ เราจะเห็นภาพคนหลายๆคนที่ซื้อหนังสือแบบเป็นตั้งๆ ลากกระเป๋าเดินทาง ... จากนั้นผ่านไปหลายเดือน จนจะถึงงานหนังสือครั้งถัดไปแล้ว ก็ยังอ่านไม่จบอยู่ดี
แต่ก็ยังซื้อหนังสือใหม่ๆมาเพิ่มอยู่ดี


มันมีชื่อเรียกครับ

Tsundoku ... เป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลหมายถึงการเสาะหาหนังสือหรือเอกสารมาอ่าน ... จากนั้นกองทิ้งไว้ ไม่ได้อ่าน (มาจากคำ อ่านหนังสือ + หาของมาเตรียมไว้ภายหลังและจากไป)
https://en.wikipedia.org/wiki/Tsundoku
ถือเป็นคำที่ตรงไปตรงมาที่สุดกับพฤติกรรมนี้ เทียบเท่ากับที่คนไทยใช้คำว่า "ดองหนังสือ"

ส่วนในภาษาอังกฤษไม่ได้มีคำเฉพาะเสียทีเดียว ... โดยคำที่ตรงที่สุดก็จะเป็น Book Buying addiction : เสพติดการซื้อหนังสือ ซึ่งชื่อเน้นไปที่การซื้อ ... แต่ว่ากลุ่มที่สนใจเรื่องนี้ก็จะบ่นเหมือนๆกันคือ ชอบซื้อมาแต่ไม่ได้อ่าน
แต่แม้ว่าทางกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษจะไม่มีคำเฉพาะถึงการซื้อหนังสือมาดอง แต่ว่าปัญหานี้ก็มีอยู่จริงถ้าเราค้นหาในอินเตอร์เน็ทก็จะพบว่ามีคนมีปัญหานี้มากมาย
ทำไมคนเราบางคนจึงชอบซื้อหนังสือแต่ไม่อ่านหรืออ่านไม่จบ
1. เรากลัวว่าเราจะไม่เจอหนังสือนี้อีก (ตามธรรมชาติ)
หลายครั้งเราเจอหนังสือที่เราสนใจ ไม่แน่ใจว่าจะซื้อดีไหม ... จากนั้นเมื่อกลับไปหาอีกก็ไม่เจออีกแล้ว
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบเก็บสิ่งของ เพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับอนาคต
ซึ่งความรู้สึกที่ว่าได้เจอบางสิ่งบางอย่างแล้วไม่ได้เก็บไว้ จากนั้นเมื่ออนาคตมาเราต้องใช้แต่ไม่มี มันจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีอย่างมากๆ
บางคนจึงมีความอยากซื้อทันทีที่เห็นหนังสือที่รู้สึกถูกใจ

2. เรากลัวว่าเราจะไม่เจอหนังสือนี้อีก (เพราะสำนักพิมพ์ไม่พิมพ์เพิ่ม)
ในกลุ่มนักอ่านหนังสือบางประเภท จะรู้กันดีว่ามีหนังสือบางกลุ่มที่เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วมักจะไม่มีโอกาสได้พิมพ์อีกเป็นครั้งที่ 2 ...
และอาจจะไม่มีทางเจอมันอีกเลยเพราะเฉพาะกลุ่มจนกระทั่งร้านหนังสือใหญ่ๆไม่อยากนำมาขาย
ดังนั้นกลุ่มนักอ่านกลุ่มนี้จะซื้อหนังสือพวกนี้มาตุนไว้


3. เราอยากได้ความสุขจากการซื้อ
คนเรามีความสุขเมื่อได้เลือก และได้จ่ายเงิน เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีอำนาจและควบคุมชีวิตเราเองได้ บางคนจะรู้สึกดีเมื่อเห็นหนังสือที่ตนซื้อมา (คล้ายๆกับคนที่ชอบซื้อเสื้อผ้าเครื่องประดับมาเก็บ)


4. เรามีความสุขกับการจินตนาการสิ่งที่จะได้จากการอ่านหนังสือ
บางคนอยากพัฒนาตนเอง ก็จะซื้อหนังสือพัฒนาตนเองมาเก็บไว้ และคิดว่าเมื่อได้อ่านแล้วจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
บางคนเห็นไอดอลของตนซื้อหนังสือมาอ่าน ตนอยากเก่งแบบนั้นบ้าง จึงหาหนังสือมาดองไว้กะว่ามีเวลาจะอ่าน จะได้เก่งแบบนั้นบ้าง
ข้อที่ทำให้แตกต่างกันคือ
ถ้าเรา"มีความสุขกับการจินตนาการว่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือ" มีมากกว่า "ความตั้งใจได้ประโยชน์จากหนังสือ"
ความอยากอ่านของเราจะลดลงเพราะเราได้ความสุขจากการซื้อไปแล้ว


5. สิ่งที่ทำให้เราอยากซื้อนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ตัวของเราตอนที่ซื้อ เป็นคนละอารมณ์ความรู้และความรู้สึกกับตัวเราในตอนนี้
บางเรื่องเป็นเรื่องหายากในอดีต เราจึงอยากอ่าน ... แต่เวลาผ่านไป คนอ่านเอามาเขียนต่อมีเยอะ เราก็ลดความอยากอ่าน
บางเรื่องเป็นนิยาย เราเจอเพื่อนสปอย เราก็ไม่อยากอ่าน


6. ไม่มีเวลาแต่เราหวังว่าเราอยากจะอ่าน
ตรงไปตรงมา คือเราให้เวลากับอย่างอื่นมากกว่า
และเราหวังว่าเมื่อมีเวลาจะแบ่งให้ เราก็จะอ่านหนังสือ
... และเมื่อเรายังเห็นสิ่งอื่นสำคัญกว่า เราก็จะไม่แบ่งเวลาให้การอ่านหนังสือ ... ทำให้เราไม่อ่านสักที


7. อยากให้คนอื่นเห็นเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ
ซื้อมาถ่ายปกอัพ / ซื้อมาเป็นเครื่องประดับบ้าน
(จริงๆข้อนี้ไม่นับ เพราะแบบนี้คือเราไม่ได้ตั้งใจจะอ่านมันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว)

ผลของการ"ดองหนังสือ"ที่มีต่อเรา
แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมาก แต่การดองหนังสือไว้มากๆก็อาจจะไม่ดีกับตัวของเรา

1. ทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับตนเอง

การ"ซื้อ"หนังสือ จะทำให้เรารู้สึกว่าเราได้สัญญากับตนเองว่าจะอ่าน
พอเราไม่ได้อ่าน ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับเราโกหกตนเอง ผิดสัญญากับตนเอง ... บางคนจะเกิดความรู้สึกด้อยค่า อาย ไม่พอใจตัวเอง หรือลดความรู้สึกเคารพในตัวตนของตนเอง

2. มีผลต่อความสัมพันธ์
หนังสือเต็มบ้าน แย่งที่เก็บของของคนอื่น
และถ้ามีคนมาต่อว่าว่า"ซื้อมาแต่ไม่ยอมอ่าน"
มันก็จะเป็นการเปิดบาดแผลในข้อ 1

แล้วเราจะทำอย่างไรดี...
วิธีแก้ไข 
 
1. ก่อนซื้อทุกครั้ง หาสาเหตุของการซื้อก่อน ... และตั้งกติกา
- ถ้าคุณซื้อเพราะต้องการคุณค่าจากการอ่าน - ให้ตั้งใจ ตั้งกฎกับตนเองเลยว่าจะอ่านมันตอนไหนยังไง
- ถ้าคุณตั้งใจจะซื้อ เพราะมีความสุขจากการซื้อ แต่คิดได้ว่าไม่ได้อยากอ่าน ก็ยั้งๆไว้นิดก่อนซื้อ
- ถ้าตั้งใจจะซื้อ เพื่ออัพลงSocial ... ไปที่ร้านหนังสือ ถ่ายปกก็พอ


2. เช่าหนังสือ
คนจำนวนไม่น้อย อ่านหนังสือรอบเดียวแล้วไม่กลับมาอ่านอีก
การเช่าหรือยืม จะเป็นการกำหนดเวลาไปในตัว / เสียเงินไม่มาก / และท้ายที่สุดเราไม่เปลืองที่เก็บ


3. หาเวลาบังคับอ่านหนังสือในแต่ละวัน ไม่อ่านขาดและไม่อ่านเกินเวลาทำกำหนด
หาเวลา 15 นาที ที่จะไม่ทำอะไรเลยนอกจากอ่านหนังสือ
คนส่วนมากที่ไม่มีเวลา จริงๆมีเวลา แต่เขาให้ความสำคัญกับการอ่านไม่มากพอ ...
หรือบางคนอาจจะไม่มีเวลาจริงๆ เพราะว่าการส่องเฟซเพื่อน การอ่านข่าวเรื่องทั่วไป ซุบซิบดารา ดูบอล ดูหนัง ดูละคร ดูเกมโชว์ มันสำคัญกว่าการอ่านหนังสือสำหรับคนๆนั้น
คืออย่าเข้าใจว่าที่ว่ามาทำไม่ได้นะ แต่อยากให้เรียงความสำคัญกับตนเอง ... ว่าเราเห็นอะไรสำคัญกว่า (รอบๆตัว มีคนหลายคนที่ให้ความสำคัญกับการดูละครและเกมโชว์มากกว่าการอ่านหนังสือ เพราะสำหรับชีวิตเขา การดูละคร มีผลต่อรายได้มากกว่าที่การอ่านหนังสือจะทำได้)

สำหรับคนที่คิดว่าอ่านหนังสือสำคัญ แบ่งเวลาไว้ 15 นาที แล้วอ่านทุกวันติดกันสักเดือนนึงไม่ต้องอ่านเกิน15นาที ... อย่าอ่านสะสมแล้วบอกตนเองว่าวันนี้ไม่อ่านเพราะเมื่อวานอ่านแล้ว
ทำจนเป็นนิสัยสักเดือน แล้วตัดสินใจเองว่าจะอ่านต่อยังไงหรือไม่


4. อ่านอย่างมีจุดหมาย
ขีดเส้น highlight จดโน็ตย่อ
มนุษย์เราไม่มีทางจำทุกอย่างได้หมด ... ยังไงก็ต้องจด ยังไงก็ต้องบันทึก เพื่อการกลับมาอ่านใหม่หรือหาข้อมูลซ้ำจะได้ทำได้ง่าย
การทำโน็ตย่อจะทำให้เรารู้สึกว่าเราอ่านแล้วได้อะไรบางอย่างกลับมา ไม่รู้สึกสูญเปล่า จะได้อ่านใหม่


5. ซื้อEbook / ซื้อออนไลน์ /ซื้อมือสอง
การทำในข้อนี้ จะช่วยลดตัวกระตุ้นความอยากซื้อเพราะกลัวว่าจะหาซื้ออีกไม่ได้
การเข้าไปดูในออนไลน์จะช่วยให้เราเห็นว่า จริงๆหนังสืออาจจะไม่ได้หายากอย่างที่เรากลัว


เป็นแบบนี้ผิดปกติหรือไม่ จะเป็นโรคจิตไหม

เวลาคุยถึงเรื่องนี้ จะมีคนชอบไปอ้างถึงภาวะ Bibliomania
คือคำว่า Bibliomania เป็นอาการทางจิตในกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ ที่มีความอยากได้หนังสืออย่างแรงกล้า ถ้าไม่ได้จะมีความรู้สึกทุกข์ทรมาน ต้องซื้อหรือขโมยหนังสือ ... และจะซื้อแม้ว่าจะมีปัญหาทางการเงิน ... เอาหนังสือมาเก็บไว้จนมีปัญหาเรื่องพื้นที่ หรือทะเลาะกับคนในครอบครัว .... หากเป็นระดับนี้ต้องรักษา

การที่คนเอาคำว่า Bibliomania มาใช้โยงเข้ากับการ"ดองหนังสือ" ทั้งที่มันเป็นคนละเรื่องกัน เลยทำให้คนอ่านเข้าใจผิดไปจนถึงกังวลว่าจะเป็นโรคจิต ... หรือกังวลว่าคนใกล้ตัวกำลังเป็นโรคจิตโดยไม่รู้ตัว

Bibliomania คือการย้ำคิดย้ำทำเสาะแสวงหาหนังสือมาโดยก่อให้เกิดปัญหา ... ต่างจากการดองหนังสือ ที่เกือบทั้งหมดเป็นแค่การรักหนังสือ (Bibliophile) เพียงแต่เราไม่มีเวลาหรือไม่ได้อ่านมันเท่านั้นเอง

ถ้าไม่ได้ไปขโมยใครมา ไม่ได้ซื้อจนการเงินขัดสน ไม่ได้ซื้อแล้วไปสุมจนมีหนูมาขึ้นบ้าน ก็ไม่ต้องกังวลครับ ค่อยๆหาเวลาอ่านกันไปก็พอ