วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

โยนเหรียญลงบ่อ ประเพณีใคร หรือวัฒนธรรมเกิดใหม่ทำตามกันมา







หลังจากมีข่าวเรื่องเต่าที่กินเหรียญที่มีคนโยนลงบ่อ ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายแตกขยายเป็นหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าชนชาติไทยรับเข้าซึ่งวัฒนธรรมต่างประเทศโดยปราศจากการไตร่ตรอง ลอกเลียนแบบมาโดยไม่ได้ดูบริบทของสังคมว่าที่มาต้นฉบับเขาเป็นแบบใด ทำให้เกิดปัญหาน่าเศร้าซึ่งที่อื่นๆในโลกไม่เป็นกัน

โยนเหรียญลงบ่อ
? เริ่มเมื่อไหร่ ?
ถ้าหากถามถึงจุดเริ่มต้น อาจจะตอบได้ยาก เพราะว่าลักษณะการทำเช่นนี้มีในหลากหลายพื้นที่ในสมัยโบราณ และนอกจากนี้ ถ้าหากไปมองที่กิจกรรมการกระทำ จะมีทั้ง พิธีกรรมที่มีการโยนเหรียญหรือใช้เหรียญ(ไม่ว่าจะลงน้ำหรือไม่) , บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ที่อาจจะไม่ต้องมีเหรียญ) , และการโยนเหรียญหรือลงน้ำหรือบ่อน้ำ
ในการขุดค้นที่เมืองคาร์โรว์เบิร์กมีการพบบ่อน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อเทพโคเวนทิน่า ตั้งอยู่ในแนวของกำแพงเฮเดรียนที่กองทัพโรมันไปตั้งประจำในเกาะอังกฤษ เทพโคเวนทิน่าเป็นเทพพหุวัฒนธรรม(ของบริเตน โรมัน เคลท์) ผู้คุ้มครองการคลอดบุตรและการรักษา ซึ่งภายในบ่อน้ำมีการพบเหรียญโรมันในหลายยุค จำนวนกว่าหนึ่งหมื่นเหรียญ เป็นเหรียญโรมันทำจากโลหะสำริด (และสิ่งของอื่นๆ) โดยนักโบราณคดีตั้งข้อสังเกตว่า เหรียญที่พบมีค่าไม่มากเท่าไหร่
และถ้าหากจะย้อนกลับไป การโยนเหรียญลงน้ำ อาจจะไม่ได้เริ่มต้นที่บ่อน้ำของเทพโคเวทิน่าก็ได้ เพราะในสมัยโรมันก่อนนั้น300ปี มีบันทึกของ
Gaius Caecilius (คศ 61-113) หรือที่เรารู้จักกันในนามของ Pliny the younger (หลานลุงของ Pliny the elder ที่ตายจากภูเขาไฟระเบิดที่ปอมเปอี) ในเอกสารจดหมายของเขาที่หลงเหลือมาจนปัจจุบัน มีการกล่าวถึงเหรียญที่ส่องประกายในแม่น้ำตื้นๆ ... ซึ่งแม้เขาจะไม่ได้บอกว่าทำไมเหรียญไปอยู่ในน้ำ แต่ว่าถ้าเรามองว่ามีเหรียญในน้ำที่ไม่มีคนเก็บไป มันต้องมีอะไรบางอย่างแน่ๆ
และหากจะย้อนกลับไปอีก อาจจะย้อนไปได้ถึงตำนานของชาวเคลท์
Celt ซึ่งกล่าวถึงเทพโอดิน ที่สละดวงตาเพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนในการดื่มน้ำจากบ่อน้ำแห่งความรู้ใต้ต้นอิกดราซิล (Well of eternity ใน world of warcraft แหละ อันเดียวกัน)  ซึ่งเป็นเหมือนกับการบอกกลายๆว่า เมื่อจะขออะไรบางอย่างจากบ่อน้ำนั้น ต้องสละบางสิ่งบางอย่างไป

บ่อน้ำมีอะไร ทำไมคนจึงคิดว่าศักดิ์สิทธิ์
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องกินน้ำจืด และในธรรมชาติ แหล่งน้ำจืดก็มักมาในรูปของแม่น้ำ ทะเลสาบ และตาน้ำ
ตาน้ำ เป็นน้ำใต้ดินที่ผุดขึ้นมาที่พื้นผิว ก่อนจะรวมตัวเป็นบ่อน้ำหรือธารน้ำ และเนื่องจากน้ำจืดเป็นสิ่งมีค่า จุดที่กำเนิดแหล่งน้ำจึงมีความสำคัญไปโดยปริยาย เมื่อมีตาน้ำ ชุมชนรอบนั้นจะสร้างสิ่งป้องกันเช่นล้อมหินเป็นบ่อ ทำเป็นอาณาเขตที่ให้รู้กันว่าจุดนี้คือพื้นที่หวงห้ามที่ใครจะมาทำให้สกปรกมิได้  เพราะถ้าสกปรกก็จะส่งผลถึงคนใช้น้ำคนอื่น , บ้างก็มีการสร้างรูปเคารพ รูปปั้นของสิ่งที่ตนนับถือไว้ตรงจุดนั้น (ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้พบตาน้ำนั้นหรือเพื่อป้องกันคนไปทำให้สกปรก)
สถานที่ทางศาสนาบางแห่ง มีการสร้างตรงจุดที่มีตาน้ำ และก็นำมาซึ่งความเชื่ออีกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำรักษาโรค การโยนสิ่งของลงไป หรือการใช้น้ำชำระล้างความสกปรก(ทางร่างกายและจิตใจ)  ...
ความศักดิ์สิทธิ์ของตาน้ำและตาน้ำชำระความสกปรก อาจจะมีที่มาจากความแตกต่างของตาน้ำและธารน้ำ ... ธารน้ำ ในบางครั้งจะมีความสกปรกและตะกอนได้ ในขณะที่ตาน้ำซึ่งผุดออกมาจากใต้ดินแท้ๆกลับเป็นจุดที่น้ำสะอาดกว่าจุดอื่นๆ (ซึ่งแน่นอน เพราะว่าตาน้ำคือน้ำที่ผ่านการกรองจากใต้ดิน และมันไหลมานาน ก็พัดเอาตะกอนเล็กๆไปหมดแล้ว) .... นอกจากนี้การเหรียญที่ใช้โยนลงไป บางครั้งเป็นเหรียญจากโลหะเงินและทองแดง ซึ่งเมื่อละลายน้ำแล้วจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ(เล็กน้อย) อาจจะเป็นส่วนเสริมทำให้น้ำในจุดนั้นปลอดภัยกว่าจุดอื่นจนเป็นที่สังเกตได้และเสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้มากขึ้น

บนบานศาลกล่าว ติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ...  
คำถามคือ เมื่อมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว คนโยนเหรียญลงไปทำไม
คำตอบที่ดูเหมือนจะตรงกันในทุกวัฒนธรรมคือ บนบาน
ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน ดูเหมือนว่าการโยนสิ่งที่มีค่าลงไป เป็นการแสดงออกซึ่งการเสียสละบางสิ่งบางอย่างที่มีค่าของตน เพื่อขอให้ อะไรบางอย่างที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ช่วยให้เราได้ในสิ่งที่หวัง
บ่อน้ำ น้ำพุ ทำหน้าที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ เป็นทางผ่านที่ทำให้ “สินบน(สิ่งสักการะ)(
offering)” นำพาคำขอ ไปยังเบื้องบน

ดังนั้น การโยนเหรียญ อาจจะไม่ได้แปลว่า “บ่อน้ำ” นั้นศักดิ์สิทธิ์ ... และไม่จำเป็นต้องเป็นบ่อน้ำ

ในวัฒนธรรมของยุโรปและอเมริกัน มักจะเป็น “น้ำ” จะน้ำอะไรก็ได้ น้ำพุ บ่อน้ำ แม่น้ำ ธารน้ำ พี่โยนหมด ต่อให้มีป้ายว่าห้ามโยนก็ยังโยน
ในอินเดีย เป็นการโยนเหรียญลงใน “แม่น้ำ” สำคัญ หรือแม่น้ำใกล้สถานที่ทางศาสนา
ในไทย อาจจะโยนลงบาตร ลงบ่อน้ำ
ในญี่ปุ่น โยนใส่กล่องบริจาคหน้าวัด
ในจีน เป็นการโยนใส่อะไรบางอย่างตามความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น โยนเข้าปากรูปปั้นปลา โยนใส่รูปปั้นเต่า(เชื่อว่าทำให้อายุยืน) , ปาใส่หัวเต่าเป็นๆ , มีรูปหล่อเจดีย์หลายชั้น ก็พยายามโยนใส่หน้าต่างเจดีย์ชั้นบนสุด , ไปหลุมศพโบราณคดี ก็โยนลงโลงศพ , ไปสวนพฤกษศาสตร์ มีบัวอะเมซอน (มีเต่า) ก็โยน
แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะโยนลงอะไร ... ส่วนมากคือการ ขอพร จากนั้นโยนเหรียญ  ไม่ค่อยมีใครโยนเฉยๆ โดยไม่ขอพร

รากเหง้าแห่งการโยนเหรียญ และปัญหา
มีข้อน่าสนใจจากกรณีคนไทยโยนเหรียญลงบ่อเต่า ... แปลว่าเรารับเอาวัฒนธรรมเหล่านี้มาโดยไม่รู้ที่มาของมันจึงเกิดปัญหา ต่างจากประเทศอื่นที่สืบต่อวัฒนธรรมอย่างรู้ที่มาจึงไม่เกิดปัญหา  .. จริงหรือ?
คำตอบคือ ไม่น่าเกี่ยว
เพราะ ส่วนใหญ่แล้ว คนที่โยนเหรียญลงน้ำ ก็ไม่ได้รู้ที่มาที่ไปของรากเหง้า
และทุกๆที่ก็มีปัญหาจากเหรียญที่โยน
แม้ว่าเราจะย้อนกลับเรื่องการโยนเหรียญว่ามีมาตั้งแต่สมัยของโรมันในบ่อน้ำของเทพโคเวนทิน่า ... แต่บ่อน้ำและโบสถ์นี้ถูกทำลายและลืมเลือนไปนานมากเพิ่งถูกค้นพบไม่นาน(หลัก 100ปี) ซึ่งในระหว่างนั้นวัฒนธรรม
Wishing well ก็มีในยุโรปอยู่แล้ว
และถ้าหากไปดูในอินเตอร์เนท เราจะพบว่ามีคนที่ตั้งข้อสงสัยอยู่เรื่อยๆว่าโยนไปทำไม ... ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ที่มาที่ไปนัก บ้างก็โยงไปเรื่องน้ำพุเทรวี่ บ้างก็โยงไปที่บ่อน้ำ
Pen Rhys หรือบ่อน้ำเทพโคเวนทิน่า ... แต่ส่วนใหญ่ก็โยนตามๆกันมาโดยไม่รู้ที่มากัน รู้เพียงแต่ประมาณว่าหากต้องการขอพร ก็ให้ขอ แล้วโยนลงน้ำ ... มิได้ต่อเนื่องมาจากเรื่องความเชื่อหรือศาสนาจากอดีต

แล้วที่มันมาโผล่ในสังคมยุคหลังมาจากไหน

คาดกันว่ามาจากเรื่องของ “ภาพยนตร์” “การนำเที่ยว/การทำบุญขอโชคลาภ” และ “การทำตามต่อๆกัน”
- ภาพยนตร์ในปี 1954 เรื่อง
Three Coins in the Fountain ซึ่งโด่งดังและได้รับรางวัลออสการ์ ทำให้คนรู้จักการโยนเหรียญขอพรที่น้ำพุเทรวี่ รวมถึงการโยนเหรียญที่น้ำพุ
- เวลามีการนำเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ไกด์นำเที่ยวมักมีการสอดแทรกสิ่งเล็กๆน้อยๆเข้าไปเพื่อสร้างจุดขายความแตกต่าง บางครั้งมีการสร้างเรื่องเสริมแต่งขึ้นเพื่อให้คนที่มาเที่ยวประทับใจ เช่นการโยนเหรียญลงน้ำพุให้โชคดี โยนเหรียญในบ่อเต่าให้ร่ำรวย (ส่วนมากจะของจีน)
- คนเราเป็นสัตว์สังคม เมื่อเห็นคนทำๆกัน หรือมีเหรียญที่โยนทิ้งไว้แล้ว ก็มักจะทำตาม โดยไม่ได้คิดอะไร ... บางที่ซึ่งมีสัตว์อยู่ แม้จะมีป้ายห้ามก็ยังโยน เพราะคิดว่าคนอื่นโยนมาแล้ว สัตว์ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ... คงไม่มีอันตรายอะไร

 น้ำพุเทรวี่และนักท่องเที่ยว (ภาพ pixabay)

ที่อื่นในโลกมีปัญหาจากการโยนเหรียญหรือไม่
ต่อสัตว์
ความจริงแล้วหากเราหาข้อมูลจาก
internetหรือหนังสือ จะพบว่า ในสหรัฐอเมริกา มีปัญหานี้ตั้งแต่ยุค1930 ช่วง The great depression ที่มีบันทึกว่าสัตว์ที่ตายในสวนสัตว์ก็มีการผ่าพบเหรียญในท้อง , ปี2008 แมวน้ำที่สวนสัตว์โอกลาโฮมาตายเพราะกินเหรียญที่นักท่องเที่ยวโยนลงน้ำ , ที่จีน คนโยนเหรียญใส่เต่า และบ่อปลาคาร์ฟ , ที่ฮาวาย เจ้าของร้านอาหารต้องติดป้ายขอให้คนเลิกโยนเหรียญลงบ่อปลาเพราะทองแดงทำให้น้ำเป็นพิษ,วารสารทางการสัตวแพทย์รายงานเคสไฮยีน่าที่ตายเพราะพิษจากเหรียญที่กลืนเข้าไป (เหรียญในสหรัฐหลังปี1982 ทำจากโลหะที่ละลายได้ในน้ำย่อย) ... สำหรับเต่าที่ไทยเป็นข่าวเยอะหน่อย ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะความพยายามในการรักษาและการออกมาให้ข่าวเพื่อเป็นอุธาหรณ์ป้องกันการเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก
ต่อน้ำพุ
น้ำพุในหลายๆที่ต้องติดป้ายเตือนห้ามการโยนเหรียญ เพราะเหรียญบางชนิดจะลงไปติดขัดในระบบท่อของน้ำพุจนเสียหายได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความพยายามเข้าไปเอาเหรียญออกมา ทำให้น้ำพุเสียหายได้
ต่อสถานที่ท่องเที่ยว
ที่บ่อน้ำร้อนในเขตเยลโล่ว์สโตน มีการเปลี่ยนสีไป โดยคาดว่าเกิดจากเหรียญที่โยนลงไปเกิดการละลายในน้ำจนทำลายระบบนิเวศและแบคทีเรียในน้ำ
ที่จีน มีรายงานข่าวที่ระบุว่าบรรดาหลุมศพ โลงศพในโบราณสถาน (เช่นหลุมศพเปาบุ้นจิ้น) ถูกนักท่องเที่ยวโยนเหรียญใส่จนเสียหาย
ต่อสัตว์น้ำ
เหรียญทองแดงสามารถละลายออกมาในน้ำทำให้ปลาตายได้ (คือฆ่าเชื้อโรคได้และฆ่าสัตว์น้ำได้) ก็เกิดปัญหาในบ่อประดับที่เลี้ยงปลา เจ้าของต้องออกมาเตือนไม่ให้โยนเหรียญลงไป

 
ภาพเหรียญในแหล่งน้ำในไอซ์แลนท์ (ภาพPixabay)

แล้วเราจะป้องกันอย่างไร
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมการโยนเหรียญ เกิดจาก “ความหวัง” และ “การเสี่ยงโชค” ของมนุษย์
เราพร้อมที่จะลงทุนเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้รู้สึกว่ามีความหวัง
เหมือนคนที่ซื้อล็อตเตอรี่แล้วจินตนาการในใจว่าถ้าถูกรางวัลที่หนึ่งก็คงจะดี ... แม้ไม่ถูกรางวัลก็มีความหวังไปอีกครึ่งเดือน

การโยนเหรียญขอพรก็เช่นกัน ... หากเราห้าม ก็เหมือนเราไปขัดความหวังของเขา ... ไม่มีใครพอใจ ... ยังไม่นับว่าบางที่มีธุรกิจบุญที่เกี่ยวข้องกับเงินที่ได้จากการบริจาคในรูปแบบนี้อีก
ดังนั้นอาจจะมีทางออกได้หลายๆทางที่ปรับไปใช้ได้ตามเหมาะสม เช่น

1. ติดป้ายบอกให้รู้ไปเลยว่าห้ามโยนเพราะไม่ถูกต้องหรือบาป ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทำให้สัตว์ตายได้ (คนจะโยนจะได้ลังเลว่าตกลงตรูได้บุญหรือบาป)
2. ติดกำแพง หรือส่วนที่บังน้ำ ไม่ให้คนเห็น ... เพราะธรรมชาติของคนจะโยนเหรียญในที่ที่ตนเห็นเหรียญที่ตนโยนลงไปมากกว่าโยนไปแล้วมองไม่เห็นเหรียญ
3. ติดตั้งตู้บริจาคชนิด
Funnel ... ตู้ธรรมดาคนจะมองเป็นการบริจาค มีเวลาขอพรไม่นาน ... ตู้Funnel จะทำให้เหรียญวิ่งวนเป็นวงกลมอยู่ครู่หนึ่งมีความเป็นพลวัตรแห่งการอธิษฐาน
4. ทำความสะอาดบ่อน้ำบ่อยๆ ... ให้คนเห็นว่าเหรียญน้อย ธรรมชาติของคนจะไม่ชอบโยนเหรียญหากไม่เห็นเหรียญอื่นๆ
5. สร้างบ่อโยนเหรียญโดยเฉพาะ เช่นสร้างบ่อน้ำมีรูปปั้นเต่าตรงกลาง ติดป้ายบอกว่าใครโยนโดนกระดองก่อนตกลงน้ำจะโชคดี , ตั้งรูปปั้นปลาอ้าปากในบ่อ ใครโยนลงแล้วโชคดี ... เดี๋ยวคนก็มาโยนกันเอง  ทุกคนแฮปปี้ไม่มีเต่าตาย

ไม่ว่าวัฒนธรรมที่มาของเรื่องโยนเหรียญจะเป็นอย่างไร แต่มันก็ผูกอยู่กับความเชื่อและความหวังของมนุษย์ ... ดังนั้นไม่ว่าจะคนไทย จีน ฝรั่ง ก็คงโยนกันต่อไป
ปล. ทั้งนี้วัฒนธรรมการโยนเหรียญขอพรบ่อน้ำ จะหายากในวัฒนธรรมที่นับถือศาสนาอิสลามและยิว เพราะหลายคนถือว่าการโยนเหรียญทิ้งแบบนี้ผิดหลักศาสนาว่าด้วยการสิ้นเปลือง
ปอ. และมีข่าวว่าตอนไปที่
Shrine of the book ในเยรูซาเลม ... ปธน.โอบาม่าเอาเหรียญไปโยนลงสระน้ำของอาคารนั้น
ปฮ. เรื่องเหรียญแปะตาคนตายเอาไว้ติดสินบนข้ามแม่น้ำ อันนี้ไม่นับ เพราะไม่มีการโยน ... ส่วนเรื่องวิหารเทพอะโพรไดท์ของบาบิโลนที่ผู้หญิงที่ถึงวัยจะต้องมานั่งแล้วมีผู้ชายมาโยนเหรียญใส่ก่อนจะพาไปทำอะไรกัน อันนี้ก็ไม่นับเพราะน่าจะเป็นเรื่อง sacred prostitute มากกว่าเรื่องขอพร


เอกสารอ่านเพิ่มเติม
1. http://www.foxnews.com/travel/2015/08/26/turtles-in-chinese-zoo-plastered-with-money-for-hopes-good-luck.html
2. https://anthropologyworks.com/2017/01/12/why-we-throw-coins-in-fountains-a-cultural-explanation/
3. https://en.wikipedia.org/wiki/Wishing_well
4. https://www.deraghotels.de/en/__trashed/
5. https://ohr.edu/ask_db/ask_main.php/30/Q2/
6. http://www.anthropology.uci.edu/~wmmaurer/courses/anthro_money_2006/wishing.html
7. http://www.todayifoundout.com/index.php/2014/03/throw-coins-fountains/
8. http://www.ancient-origins.net/myths-legends/ritual-behind-wishing-wells-buying-favors-and-good-fortune-002814
9. http://www.theblaze.com/news/2013/03/21/out-of-change-obama-has-to-borrow-coins-to-toss-in-jerusalem-wishing-well-during-tour-stop/
10. http://europe.chinadaily.com.cn/epaper/2015-11/20/content_22486867.htm
11. http://www.bbc.com/news/world-asia-india-20662368
12. http://kfor.com/2014/12/08/wishing-well-worries-oklahoma-city-zoo-warning-visitors-about-tossing-coins/
13. The History & Use of Amulets, Charms and Talismansโดย Gary R. Varner หน้า 171
14. https://en.wikipedia.org/wiki/Sacred_prostitution
15. https://en.wikipedia.org/wiki/Three_Coins_in_the_Fountain_(film)
16. http://wowwiki.wikia.com/wiki/Well_of_Eternity




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น