วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

การย้อนกลับไปดูคลิป ก็มีอคติและทำให้ตัดสินผิดไปได้

งานวิจัยว่าไว้ อย่าเชื่อเพียงเพราะเห็นคลิป

รูปจาก pixabay.com/en/phone-photography-camera-mobile-802125/


เวลาเกิดเรื่องราวความขัดแย้งกัน สิ่งหนึ่งที่คนต้องการก็คือ "คลิป" เพราะเชื่อกันว่า ภาพเคลื่อนไหวเป็นอะไรที่ตัดต่อได้ยาก / และไม่มีอคติจากการเลือกช่วงเวลาเหมือนภาพถ่าย





แต่จริงหรือ ? ที่มันจะไม่มีอคติเกิดขึ้น


1. มุมมองต่าง ข้อมูลก็เปลี่ยน
การปรับเปลี่ยนมุมมองของกล้องส่งผลต่ออคติหรือความรับรู้ของเราที่มีต่อคนที่ถูกถ่ายได้
โดยมีบางงานวิจัยที่ทดสอบถ่ายฉากการสอบสวนให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ พบว่าการถ่ายเฉพาะหน้าของผู้ต้องสงสัยทำให้เกิดความรู้สึกว่าผู้ต้องสงสัยมีความผิดจริงและรับสารภาพจริง แต่พอเปลี่ยนมุมมองกล้องเป็นการถ่ายทั้งตำรวจและผู้ต้องสงสัย กลับให้ความรู้สึกว่ารับสารภาพทั้งที่ไม่ได้ทำผิดจริง
การวิจัยในลักษณะนี้มีอีกหลายแบบ พบว่า การให้ฟังแต่เสียง หรือการสลับลำดับก่อนหลังระหว่างภาพตำรวจและผู้ต้องสงสัย ก็สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของลูกขุนที่ตัดสินคดีได้
คลิปที่เราเห็นเวลาถ่ายการขัดแย้งกัน มักจะถ่ายแบบเห็นแต่หน้าของอีกฝ่าย ดังนั้นโอกาสที่เราจะเกิดอคติก็มีได้มาก

2. ภาพที่ไม่ชัด ข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ทำให้การรับรู้เปลี่ยน
ภาพที่ไกลๆ ภาพอุบัติเหตุจราจร บางครั้งเราได้มาจากกล้องวงจรปิดหรือกล้องจากมุมเพียงมุมเดียว ทำให้เรากะระยะ กะความเร็ว หรือมองสภาพสิ่งที่เกิดขึ้นผิดจากความเป็นจริงได้

3. เราลืมไปว่า กล้องและสายตามองเห็นไม่เท่ากัน
ในการมองเห็นของตาคนเรา เราจะมองเห็นพื้นที่ตรงกลางชัดที่สุด และส่วนขอบรอบนอกเห็นชัดน้อยกว่า ส่วนการเห็นของกล้อง เห็นชัดทั่วทั้งหน้าจอ ยิ่งถ้าไปเจอกล้องเลนส์มุมกว้าง อาจจะมองเห็นได้มากกว่าที่ตามองเห็น
และเวลาเราดูคลิปอุบัติเหตุ เรามักจะรู้ว่าเกิดอุบัติเหตุ เรามักจะรู้ว่าเรื่องจะเกิดที่วินาทีที่เท่าไหร่ รู้ว่าเกิดยังไง และรีเพลย์ได้
ทำให้เมื่อเราดูคลิปอุบัติเหตุ เราจึงมีแนวโน้มที่จะโทษว่าเกิดจากความประมาทมากกว่าที่ควรจะเป็น

4. เราลืมไปว่า คนในเหตุการณ์มองเห็นไม่เหมือนกล้องนั้น
กล้องบางตัวเห็นในมุมที่ไม่ใช่ระดับสายตา เช่นพวกกล้องตามเสาไฟฟ้า กล้องถ่ายสนามกีฬา ซึ่งคนบนพื้นไม่ได้มองเห็นแบบนั้น
ซึ่งไม่แปลก ที่บางครั้งเราจะเห็นคนด่านักฟุตบอลว่าเล่นไม่ได้ดั่งใจ

5. การดูแบบ Slow motion ทำให้เราคิดว่าการกระทำนั้นเกิดจากความจงใจมากขึ้น
งานวิจัยในปี2559ชิ้นหนึ่งนำคลิปสมมุติการปล้นและยิงคนในร้านมาฉายให้ดู แล้วให้ลูกขุนลงความเห็นว่าผู้ต้องหา"ยิงอย่างจงใจตั้งใจ"หรือไม่
พบว่าลูกขุนที่เห็นภาพแบบSlow motion จะตัดสินว่าจงใจยิงมากกว่าลูกขุนที่เห็นแต่คลิปธรรมดา 3.4 เท่า

... หรือถ้าใครมองว่า เพราะเขาไม่เห็นแบบธรรมดาน่ะสิ ... ก็มีอีกอันคือ ถ้าให้ดูทั้งแบบช้าและแบบธรรมดา ... ก็ยังตัดสินว่า "จงใจยิง" มากกว่าลูกขุนที่เห็นแต่คลิปธรรมดา 1.5 เท่า

ที่เป็นแบบนี้ เพราะว่าการเห็นภาพช้า เราจะตีความอารมณ์สีหน้าทั้งหลายของคนในภาพ เสมือนว่าเป็นการกระทำในภาวะปกติ , คิดว่าคนในคลิปที่Slow motionมีเวลาตัดสินใจมีเวลาคิดวิเคราะห์มากกว่าความเป็นจริง ทำให้การกระทำที่เกิดจากความตกใจ ไม่ตั้งใจ กลายไปเป็นการกระทำแบบจงใจได้

รู้อย่างนี้แล้ว ครั้งถัดไปที่ดูรีเพลย์ก็อย่าเพิ่งด่านักฟุตบอลนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น